วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2552

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

ในร่างกายของคนเรามีเม็ดเลือด ทั้งเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือด แต่เมื่อใดที่ร่างกายมีการสร้างเม็ดเลือดขาวมากผิดปกติ อาจคาดคะเนได้ว่า “โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว” กำลังมาเยือน












ศ.พญ.แสงสุรีย์ จูฑา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยาและหัวหน้าโครงการเปลี่ยนถ่าย ไขกระดูก โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายลักษณะของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวให้ฟังว่า สามารถแบ่งออกเป็นชนิดใหญ่ ๆ 2 ชนิด คือ ชนิดเฉียบพลัน และชนิดเรื้อรัง นอกจากนี้มะเร็งเม็ดเลือดขาวทั้ง 2 ชนิดข้างต้นยังแบ่งออกตามลักษณะของเซลล์ได้เป็น 2 แบบ คือ แบบไมอีลอยด์ (myeloid leukemia) และ แบบลิมฟอยด์ (lymphoid leukemia) ซึ่งใน ปัจจุบันพบ ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยพบแบบไมอีลอยด์มากกว่าแบบลิมฟอยด์

“สาเหตุของมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบไมอี ลอยด์ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่การฉายรังสีเป็นปัจจัยเดียวที่ยืนยันได้ว่าอาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยที่เคยได้รับการฉายรังสีเพื่อการรักษาโรคข้อบางชนิดและผู้ที่รอดชีวิตจากการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิที่ได้รับสารกัมมันตรังสี พบว่า มีอัตราการเกิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบไมอีลอยด์สูงกว่าคนทั่วไปหลายเท่า”

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวส่วนใหญ่จะพบในอายุระหว่าง 15-50 ปี อายุเฉลี่ยในต่างประเทศประมาณ 39-48 ปี แต่ในประเทศไทยจากการศึกษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีพบว่า อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยอยู่ระหว่าง 36-38 ปี ร้อยละ 89 ของผู้ป่วยในประเทศไทยจะมีอายุต่ำกว่า 50 ปี พบในผู้ชายบ่อยกว่าผู้หญิงเล็กน้อย บางรายไม่มีอาการอะไรแต่ทราบว่าเป็นโรคนี้โดยบังเอิญ อาจจะไปตรวจร่างกายประจำปีแล้วตรวจพบว่าเป็นโรคนี้ หรือไม่สบายเป็นอย่างอื่น ไปพบแพทย์แล้วตรวจพบว่าเป็นโรคนี้ นอกจากนั้น อาจจะมีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ผอมลง ทานอาหารแล้วแน่นท้องหรือคลำพบก้อนเนื้อในท้อง ผู้ป่วยชายบางรายอาจพบแพทย์ด้วยอาการอวัยวะเพศแข็งตัวไม่ยอมหด รวมทั้งตรวจเลือดพบว่าเป็นโรคนี้ ประมาณร้อยละ 80-90 ของผู้ป่วยมีม้ามโต คลำได้ชัดเจน ขนาดของม้ามขึ้นอยู่กับระยะเวลาของโรคยิ่งเป็นมานานม้ามยิ่งโต

ผู้ป่วยโรคนี้มีความผิดปกติทางเลือดที่พบจำเพาะโรคนี้คือ บางส่วนของแขนยาวของโครโมโซมคู่ที่ 9 ถูกย้ายไปอยู่บนแขนยาวของโครโมโซมคู่ที่ 22 และบางส่วนของแขนยาวของโครโมโซมคู่ที่ 22 ถูกย้าย ไปอยู่บนแขนยาวของโครโม โซมคู่ที่ 9 สลับที่กัน โดยเรียกโครโมโซมคู่ที่ 22 ที่มีส่วนของคู่ที่ 9 อยู่ด้วยว่า ฟิลาเดลเฟียโครโมโซม ซึ่งพบฟิลาเดลเฟียโครโมโซมในผู้ป่วยโรคนี้ประ มาณร้อยละ 95

สำหรับความผิดปกติ ทางเลือดที่ตรวจพบ คือ ผู้ป่วยจะมีโลหิตจางเล็กน้อยถึงปาน กลาง เม็ดเลือดขาวจะสูงกว่าปกติ โดยขึ้นอยู่กับว่าเป็นมานานเท่าไรแล้ว ม้ามโตมากเท่าไร ยิ่งเป็นมานาน ม้ามโตมาก เม็ดเลือดขาวจะยิ่งสูงมาก บางรายสูงถึง 4-5 แสน ต่อ ลบ.ซม. โดยคนปกติจะมีเม็ดเลือดขาวประมาณ 5,000-10,000 ต่อ ลบ.ซม. ส่วนจำนวนเกล็ดเลือดมักปกติหรือสูงกว่าปกติ มีบางรายที่อาจมีเกล็ดเลือดต่ำได้

ผู้ป่วยจะมีอยู่ 3 ระยะด้วยกัน คือ ระยะเรื้อรัง ส่วนใหญ่ตอนที่มาพบแพทย์ครั้งแรก มักจะอยู่ในระยะนี้เมื่อได้รับการรักษาแล้ว ผู้ป่วยมักเข้าสู่ระยะที่โรคสงบ ตับ ม้ามมักจะยุบหมด เม็ดเลือดกลับมาปกติ ผู้ป่วยมักจะมีชีวิตอยู่ประมาณ 3-5 ปี จากนั้นจะเข้าสู่อีกระยะหนึ่ง

ต่อมาเป็น ระยะลุกลาม เมื่อรักษาไปสักระยะหนึ่งผู้ป่วยบางคนเข้าสู่ระยะลุกลามทำให้เริ่มไม่ได้ผลจากการรักษา เริ่มมีอาการซีด อาจต้องให้เลือดหรือส่วนประกอบของเลือด บางรายเกล็ดเลือดต่ำ ถ้าต่ำมากก็อาจทำให้มีจุดเลือดออกตามตัว หรือเลือดออกตามไรฟันได้ เม็ดเลือดขาวสูงขึ้น ม้ามเริ่มโตขึ้นทำให้แน่นท้องมากขึ้น

สุดท้าย คือ ระยะเฉียบพลัน ถือว่าเป็นระยะสุดท้ายของโรค มีอาการคล้าย ๆ กับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันคือ มีไข้ ซีดมาก เพลีย มีอาการเลือดออกง่ายหรือ มีจุดเลือดออกตามตัว หรือแขน ขา เลือดออกตามไรฟัน เป็นต้น ระยะนี้ถือว่าเป็นระยะสุดท้ายของโรค การรักษาส่วนใหญ่มักไม่ได้ผลดี

“การวินิจฉัยของโรคนี้ ทำได้โดยการตรวจหาค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดที่เรียกว่า ซีบีซี (Complete Blood Count : CBC) เพื่อตรวจดูจำนวนเม็ดเลือดทั้งหลาย ทั้งเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด และวิธีพิสูจน์ว่า เป็นโรคนี้หรือไม่นั้นทำได้โดย การตรวจไขกระดูก เพื่อดูว่ามีโครโมโซมที่ผิดปกติที่เรียกว่า ฟิลาเดลเฟียโครโมโซม อยู่หรือไม่ ถ้ามีก็ชัดเจนว่าเป็นโรคนี้แน่นอน”

ด้านทางการรักษา ทำได้โดย ยาเคมีบำบัด ส่วนใหญ่จะ ใช้วิธี เคมีบำบัดชนิดรับประ ทานยา ที่มีใช้กันแพร่หลาย คือ บูซัลแฟน (Busulfan) และไฮดรอกซียูเรีย (Hydroxyurea) ยาทั้ง 2 ตัวสามารถจะควบคุมให้จำนวนเม็ดเลือดขาวที่สูงในโรคนี้ ลงมาอยู่ในระดับปกติได้ถือว่าอยู่ในระยะโรคสงบ แต่ถึงแม้ว่าเม็ดเลือดขาวจะกลับมาปกติ โลหิตจางหายไปได้ แต่ตัวฟิลาเดลเฟียโครโมโซมก็ยังมีอยู่ ดังนั้นจึงหมายความว่าโรคยังอยู่ไม่ได้หายขาดจากโรค และการให้เคมีบำบัดชนิดต่าง ๆ ก็ไม่สามารถจะทำให้จำนวนฟิลาเดลเฟียโครโมโซมหายไปได้ เคมีบำบัดเหล่านี้จึงเป็นเพียงยาที่ควบคุมให้โรคสงบลงเท่านั้น แต่ไม่ได้รักษาให้หายขาดได้ รวมทั้งการใช้ยาฉีดอินเทอร์เฟียรอน (interferon) เป็นยาฉีดที่ราคาค่อนข้างสูง ต้องฉีดทุกวันและมีผลข้างเคียงของยามาก เช่น เพลีย เป็นไข้สูง ปวดเมื่อยคล้าย ๆ เป็นไข้หวัดใหญ่ คนไข้ไทยไม่ค่อยตอบสนองกับยาเท่าที่ควรมีเพียง 18 เปอร์เซ็นต์ที่ได้ผล

“การปลูกถ่ายไขกระดูกเป็นอีกวิธีหนึ่งในการรักษา ที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยมีข้อจำกัดอยู่ว่า ผู้ป่วยที่จะทำการปลูกถ่ายไขกระดูกได้จะต้องมีอายุไม่เกิน 55 ปี เพราะร่างกายจะทนการใช้ยาเคมีบำบัดไม่ไหวและมีปัญหาแทรกซ้อนจากการปลูกถ่ายไขกระดูกมากกว่าคนที่อายุยังน้อย

รวมทั้งต้องมีพี่น้องพ่อแม่เดียวกันที่มีเนื้อเยื่อเข้ากันได้ โดยดูจากการตรวจ เอช แอล เอ ว่าเข้ากันได้หรือไม่ โดยพี่น้องพ่อแม่เดียวกันมีโอกาสที่จะมี เอช แอล เอ เหมือนกันประมาณร้อยละ 25 ทำให้มีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 15-20 เท่านั้นที่ทำได้

นอกจากนี้ การทำการ ปลูกถ่ายไขกระดูกภายใน 1 ปีแรกหลังได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้จะได้ผลดีกว่าการทำการปลูกถ่ายไขกระดูกหลังจากวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้เกิน 1 ปีไปแล้ว ตลอดจนมีค่าใช้จ่ายสูง และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง มีการต่อต้านกันในร่างกายระหว่างช่วงการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูกได้ด้วยเช่นกัน”

หลังจากมีการศึกษาวิจัยพบว่า ยาที่มีชื่อว่า ทาร์เก็ต เธอร์ราปี เป็นยาที่ส่งผลเฉพาะจุด ทำลายเฉพาะส่วนที่เป็นเซลล์มะเร็ง ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน ที่ได้ผลดี โดย 85 เปอร์เซ็นต์ ของคนไข้ที่กินยาตัวนี้ตรวจไม่พบฟิลาเดลเฟียหรือพบฟิลาเดลเฟียเหลือศูนย์ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดี

ศ.พญ.แสงสุรีย์ แนะ นำเพิ่มเติมว่า “เคล็ดลับการป้องกันโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง คือ หมั่นตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดเพื่อดูความผิดปกติของเม็ดเลือดเป็นประจำทุกปีอย่างสม่ำเสมอ ด้วยวิธี ซีบีซี เป็นประจำทุกปี เพราะยิ่งตรวจพบเร็ว ได้รับการรักษาเร็วก็จะยิ่งทำให้อัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น”

หมั่นตรวจเช็กร่างกายเป็นประจำ...เพื่อการมีชีวิตที่ยืนยาวต่อไป.

เคล็บลับสุขภาพดี

ร้อนนี้หลายคนคิดถึงความอบอุ่นของไอแดด ภายใต้ท้องฟ้าและน้ำทะเลสีคราม ในวันหยุดยาวและการท่องเที่ยว ถือว่าฤดูร้อนเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของปีช่วงหนึ่งที่หลายคนตั้งตารอ แต่อย่าปล่อยให้บรรยากาศความสนุกในฤดูร้อนพาเพลิดเพลินจนลืมปกป้องผิวจากแสงแดดที่ร้อนระอุ อันเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังกันนะคะ

รังสียูวีจากแสงแดดแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทหลัก ๆ คือ ยูวีเอ ยูวีบี และยูวีซี แต่ที่ร้ายแรงต่อผิวเราคือ ยูวีเอและยูวีบี พญ.ธิดากานต์ รัตนบรรณางกูร แพทย์จากสถาบันสุขภาพผิวพรรณ รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์ ให้ความรู้ว่า ยูวีเอ เป็นตัวการสำคัญก่อให้เกิดอนุมูลอิสระเข้าทำลายคอลลาเจน อิลาสตินและเซลล์ผิวหนังภายใน ส่งผลให้ผิวขาดความยืดหยุ่นและอ่อนแอลง ผิวเหี่ยว หมองคล้ำ แก่ก่อนวัย ต่างจาก ยูวีบี ที่ทั้งทำลายผิวให้เห็นด้วยตาภายนอก คือไหม้และดำ ทำลายคอลลาเจนและเซลล์ผิวหนังโดยตรงอันเป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง

ดังนั้นจึงต้องเลือกครีมกันแดดเพื่อปกป้องทั้งสองยูวี โดยค่าเอสพีเอฟ (SPF) ที่เราเคยได้ยินเป็นประจำเป็นค่าที่บ่งถึงความสามารถในการปกป้องผิวจากรังสี ซึ่ง ยูวีบีค่าที่เหมาะสำหรับแสงแดดบ้านเราอยู่ที่ SPF 15 เป็นต้นไป แต่หากต้องไปตากแดดตามชายทะเล สนามกอล์ฟ ต้องเลือกครีมกันแดดมีค่า SPF 30 เป็นต้นไป ส่วนยูวีเอยังไม่มีการกำหนดหน่วยวัดเป็นมาตรฐานแต่มีเทคนิคง่าย ๆ คือ เลือกครีมที่มีส่วนประกอบของ ไทเทเนียมออกไซด์ ซิงค์ออกไซด์ หรือ เอโวเบนโซน เป็นสารที่สามารถปกป้องได้ทั้ง 2 ยูวี โดยต้องทาก่อนออกแดด 30 นาทีและทาซ้ำอีกครั้ง จะช่วยให้เนื้อครีมกระจายตัวปกป้องผิวได้ทั่ว หากมีเหงื่อออกหรือเล่นน้ำ ควรทาซ้ำอีกหลังจากเช็ดตัวให้แห้งแล้ว

นอกจากนี้ควรใส่หมวกปีกกว้างหรือกางร่มป้องกันด้วย ซึ่งร่มชนิดกันแสงยูวีจะกรองรังสียูวีได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ เมื่อรู้จักปกป้องผิวจากภายนอกแล้วควรปกป้องผิวจากภายในด้วย โดยผู้ที่อยู่กลางแดดนาน ๆ จะเสียเหงื่อมาก จึงควรดื่มน้ำทดแทนหากปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำจะเสี่ยงต่ออาการมึนศีรษะ หน้ามืด อ่อนเพลีย ส่งผลให้ผิวแห้งเหี่ยวขาดความชุ่มชื้น การรับประทานผลไม้อย่างส้ม แอปเปิ้ล องุ่น เบอรี่ มังคุด ทับทิม ฝรั่ง เป็นผลไม้มีวิตามินซี เบต้า แคโรทีน ซีแซนทีนและวิตามินบีรวม จะช่วยให้รู้สึกกระชุ่มกระชวยมีพลังงาน

หากเราลืมหรือหลีกเลี่ยงแสงแดดไม่ได้ มีวิธีแก้ไขคือ พยายามดื่มน้ำสะอาดเพื่อทดแทนน้ำที่ร่างกายสูญเสียไป ไม่ควรตากแดดเพิ่ม หมั่นทาครีมบำรุงเพื่อให้ความชุ่มชื้นกับผิวหรือครีมที่มีส่วนผสมของว่านหางจระเข้มีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการผิวไหม้แดดได้ บริเวณผิวที่แสบแดงมากอาจใช้ผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาดชุบน้ำเย็นประคบ หากอาการเป็นมาก มีตุ่มน้ำพุพองหรือเป็นไข้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้แพทย์จัดยาทาและยารับประทานบรรเทาอาการ

ร้อนนี้หลีกเลี่ยงผิวจากแสงแดดและควรปกป้องผิวด้วยการทาครีมกันแดดทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน เพื่อสุขภาพผิวที่ดี สวยใส ไร้ริ้วรอย ชะลอผิวไม่ให้แก่ก่อนวัย ที่สำคัญไม่เป็นโรคมะเร็งผิวหนังด้วยค่ะ.

สรรหามาบอก

- คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล จัดกิจกรรมวันคล้ายวันพระราชทานกำเนิด โรงพยาบาลศิริราช 121 ปี เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ร.5 องค์พระราชทานกำเนิดโรงพยาบาล ภายในงานชมสื่อผสมเฉลิมพระเกียรติ “ทวาทศวรรษศิริราช...ปฐมบทโรงพยาบาลของแผ่นดิน” นิทรรศการ “รู้จัก เข้าใจ ห่วงใยผู้ป่วยมะเร็ง” และขอเชิญผู้สนใจร่วมฟังเสวนาสุขภาพเรื่อง “ทำอย่างไร! เมื่อมะเร็งอยู่ในตัว” และ “อยาก...สุขภาพดีไม่มีโรค” โดยผู้ป่วยจริงจะมาร่วมพูดคุยกับทีมแพทย์เฉพาะทาง พร้อมให้คำปรึกษาสุขภาพ ฟรี ระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน 2552 เวลา 09.00-15.00 น. ณ ศาลาศิริราช 100 ปี โรงพยาบาลศิริราช

- ศูนย์สมองและระบบประสาทกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ ขอเชิญประชาชนทุกท่านร่วมฟังสัมมนาในหัวข้อ “อยู่อย่างไร...ห่างไกลอัมพาต” รับฟังสาระความรู้เกี่ยวกับ “สัญญาณเตือน...โรคหลอดเลือดสมองตีบ” “เส้นเลือดในสมองแตกป้องกันได้” และ “เป็นอัมพาตแล้วจะลดความพิการได้อย่างไร” พร้อมรับบริการตรวจวัดความดันโลหิต อัลตราซาวด์หลอดเลือดคอเบื้องต้น (เฉพาะ 100 ท่านแรกที่ลงทะเบียนหน้างาน) และบริการให้คำปรึกษาโรคหลอดเลือดสมองโดยทีมแพทย์และเภสัชกรด้านสมอง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในวันเสาร์ที่ 25 เมษายน 2552 ตั้งแต่เวลา 07.00-11.30 น. ณ ห้องประชุมชั้น 7 อาคารเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพ สอบถามรายละเอียดและสำรองที่นั่งได้ที่ โทร. 1719

- โรงพยาบาลไทยนครินทร์ ร่วมกับ นิตยสารรักลูก เชิญผู้สนใจชมการสาธิตและแนะวิธีปฏิบัติ ในหัวข้อ “เจาะกลยุทธ์...สร้างลูกสมองดี ตอน พัฒนาสมองลูกด้วยการเล่านิทาน อ่านหนังสือ” พร้อม เวิร์กช็อป เพื่อการพัฒนาสมองลูก ในวันเสาร์ที่ 25 เมษายน 2552 เวลา 09.00-12.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 4 โรงพยาบาลไทยนครินทร์ สำรองที่นั่งโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ 0-2361-2727 ต่อ 3042, 3056





มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia, Leukeamia) เป็นมะเร็งที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือด ทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดชนิดผิดปกติออกมามากกว่าปกติ และจะไปรบกวนการสร้างเม็ดเลือดปกติ ทำให้จำนวนเม็ดเลือดที่ปกตินั้นมีจำนวนลดน้อยลง

อาการ

เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวนั้น จะมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนของเซลล์ตัวอ่อนของเม็ดเลือดขาวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออวัยวะที่สร้างเม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ ได้แก่ ปริมาณเกล็ดเลือด ที่บทบาทสำคัญในกระบวนการแข็งตัวของเลือดนั้นลดจำนวนลง ส่งผลให้ผู้ป่วยอาจจะเกิดรอยจ้ำเลือด (bruised) มีภาวะเลือดไหลไม่หยุดได้ (bleed excessively) และ อาจจะเป็นจุดแดง ๆ ตามผิวหนังได้ (petechiae)

นอกจากนี้ การที่ผู้ป่วยมีจำนวนเม็ดเลือดขาวที่ปกติลดจำนวนลงนั้น จะทำให้ผู้ป่วยมีภาวะติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนปกติอีกด้วย รวมทั้ง การที่จำนวนเม็ดเลือดแดงมีจำนวนที่ลดลง ก็จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการของโลหิตจาง ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะหายใจลำบากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ยังอาจจะมีอาการอื่น ๆ อีก เช่น อาการมีไข้ขึ้น หนาวสั่น น้ำหนักลด มีอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และเมื่อเซลล์มะเร็งเกิดการแพร่กระจายไปยังตับและม้าม ก็จะทำให้ตับโต และม้ามโตได้ และถ้าหากเซลล์มะเร็งเกิดการแพร่กระจายไปยังกระดูก ก็จะส่งผลทำให้มีอาการปวดกระดูกและข้อได้เช่นกัน



ประเภท
การแบ่งประเภทของมะเร็งเม็ดเลือดขาวนั้น สามารถแบ่งออกได้หลายแบบ ได้แก่



มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน และ เรื้อรัง
มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน (Acute leukemia) เกิดจากการเพิ่มจำนวนของเซลล์เม็ดเลือดตัวอ่อนอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้ไขกระดูกไม่สามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดที่ปกติได้ มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันมักเกิดกับเด็ก โดยผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอาจจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตภายในไม่กี่เดือน
มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง (Chronic leukemia) เกิดจากการที่ร่างกายสร้างเซลล์เม็ดเลือดที่ผิดปกติออกมาเป็นจำนวนมากกว่าเซลล์เม็ดเลือดที่ปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีเซลล์เม็ดเลือดที่ผิดปกติในร่างกายเป็นจำนวนมาก โดยปกติแล้วมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง มักจะเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ในหลาย ๆ ช่วงอายุ


Lymphoid และ myeloid
นอกจากนี้ มะเร็งเม็ดเลือดขาวยังสามารถแบ่งได้ตามลักษณะของเม็ดเลือดขาว ได้แก่

Lymphocytic leukemia คือ การที่พบเซลล์ในสาย Lymphoid ได้แก่ ลิมโฟไซท์ (Lymphocytes) และพลาสมาเซลล์ (plasma cells) ที่ผิดปกติเป็นจำนวนมากในกระแสเลือด
Myelogenous leukemia คือ การที่พบเซลล์ที่ผิดปกติในสายmyeloid ได้แก่ eosinophils, neutrophils, และ basophils เพิ่มมากขึ้นในกระแสเลือด

ดังนั้น เราจึงสามารถแบ่งประเภทของมะเร็งเม็ดเลือดขาว ออกเป็น 4 ชนิด ได้แก่

Acute lymphocytic leukemia (Acute Lymphoblastic Leukemia หรือ ALL) สามารถพบได้ในเด็กอายุน้อยกว่า 10 ปี รวมถึงในผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีอีกดวย
Acute myelogenous leukemia (Acute Myeloid Leukemia (AML) หรือ acute nonlymphocytic leukemia) สามารถพบในผูใหญ่มากกว่าเด็ก
Chronic lymphocytic leukemia (CLL) พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 55 ปี และสามารถพบในเด็กได้บ้าง แต่ไม่ค่อยส่งผลกระทบเท่าไหร่
Chronic myelogenous leukemia (CML) พบได้ในผู้ใหญ่ แต่ไม่ค่อยพบในเด็ก
โดยสรุปแล้ว เราสามารถพบมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด AML และ CLL ได้ในผู้ใหญ่ ในขณะที่ เราสามารถพบมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด ALL ในเด็ก

สาเหตุ

สาเหตุของมะเร็งเม็ดเลือดขาวนั้น ส่วนมากมักเกิดจากการผิดปกติของข้อมูลทางพันธุกรรม ซึ่งนำไปสู่การแบ่งตัวของเซลล์ที่ผิดปกติไป นั่นคือ จำนวนเซลล์มะเร็งจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนไม่ยอมหยุด ดังนั้น เราสามารถสรุปสาเหตุการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว ดังนี้

สารก่อมะเร็ง
รังสี (Ionizing radiation)
ความผิดปกติของโครโมโซม (Chromosomal aberration)
ไวรัส บางชนิด


การรักษา

การรักษาในผู้ป่วยแต่ละราย และมะเร็งแต่ละชนิดจะไม่เหมือนกัน โดยหลักการการรักษาคือระยะแรกจะควบคุมโรคให้สงบ (remission) หลังจากนั้นจะป้องกันการกลับเป็นซ้ำ (relapse) ผู้ป่วยหลายรายสามารถหายขาดได้

วิธีการรักษา

เคมีบำบัด Chemotherapy สามารถให้ได้ทั้งทางฉีดและการกิน มะเร็งบางชนิดอาจต้องให้เข้าไขสันหลัง รังสีรักษา Radiotherapy สามารถให้ได้ 2 กรณีคือให้รังสีบริเวณที่มะเร็งอยู่ เช่นม้าม อันฑะ หรืออาจให้ฉายรังสีทั้งตัวเพื่อเตรียมการปลูกถ่ายไขกระดูก การปลุกถ่ายไขกระดูก Bone marrow transplantation โดยการให้เคมีบำบัดขนาดสูงร่วมกับรังสีเพื่อทำลายเซลล์หลังจากนั้นจึงนำไขกระดูกของคนปกติฉีดเข้าไป ผู้ป่วยจำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาลจนกระทั่งร่างกายสามารถสร้างเม็ดเลือดได้

การสร้างภูมิคุ้มกัน Biological therapy โดยการใช้ interferon กับเซลล์มะเร็งได้บางชนิด

การรักษาอื่นๆที่จำเป็น

เนื่องจากการรักษามะเร็งเม็ดเลือดมีโรคแทรกซ้อนมากดังนั้นการรักษาอื่น ก็มีความจำเป็นไม่แพ้กัน เนื่องจากผู้ป่วยอ่อนแอเกิดการติดเชื้อง่ายดังนั้นผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงสถานที่ทีมีคนมากโดยเฉพาะช่วงที่เกิดการระบาดของโรค ถ้าได้รับการติดเชื้อที่รุนแรงจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ antibiotic

ภาวะโลหิตจางเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญและพบบ่อยหากเป็นมากอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยง่าย ถ้าซีดมากควรได้รับการเติมเลือด tranfussions ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจช่องปากก่อนการรักษา

ผลข้างเคียงของการรักษา

1. เคมีบำบัด Chenotherapy หลักการให้เคมีบำบัดคือทำลายเซลล์ที่แบ่งตัวเร็วซึ่งเซลล์มะเร็งแบ่งตัวเร็วดังนั้นจึงถูกทำลายมากแต่ขณะเดียวกันการให้เคมีบำบัดก็ทำลายเซลล์ปกติดังนั้นอาการข้างเคียงจึงเกิดจากการที่เซลล์ปกติถูกทำลาย ผู้ป่วยจะคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ผมร่วง เป็นหมัน

2. รังสีรักษา Radiotherapy บริเวณที่ฉายแสงขนหรือผมจะร่วง ผิวบริเวณดังกล่าวจะแห้ง คัน ห้ามใช้ lotion ก่อนปรึกษาแพทย์

3. การปลูกถ่ายไขกระดูก Bone marrow transplantation ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เลือดออกผิดปกติ



ข้อมูล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น